กรณีศึกษาในไทย

1. ความเป็นมา                โครงการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมของบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ตามภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยและต่างประเทศ จะมีชุมชนอาศัยอยู่บริเวณใกล้เคียงแหล่งผลิตและฐานเจาะสำรวจปิโตรเลียม หรือฐานส่งกำลังบำรุงซึ่งเป็นเรื่องที่บริษัทจะจัดให้มีการดำเนินงานตามแผนงาน CSR เพื่อสนองตอบต่อการจัดการประเด็นทางสังคมของแต่ละพื้นที่                งานโครงการขยะสู่พลังงาน เป็น CSR project ของโครงการสินภูฮ่อม ได้ยกเอาประเด็นมลภาวะจากของเสียที่มาจากการทำฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดเล็กระดับครัวเรือนถึงขนาดกลาง รวมกับการจัดการขยะอินทรีย์ภาคครัวเรือน ในโรงเรียน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชน นำมาใช้ประโยชน์ในรูปพลังงานในครัวเรือน และลดการทำงานจัดเก็บขยะขององค์การบริหารส่วนตำบลลงไปได้อีกมิติหนึ่ง                โครงการขยะสู่พลังงาน เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2555 ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น และจังหวัดอุดรธานี มีกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือน (2) ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร (3) นำเอาของเสียจากการฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาผลิตเป็นระบบก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน นอกจากจะมีการดำเนินงานในโครงการสินภูฮ่อม ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นและอุดรธานีแล้ว ยังมีการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ อีก เช่น พื้นที่โครงการ S1 (กำแพงเพชร สุโขทัย พิษณุโลก) โครงการสินภูฮ่อม (ขอนแก่น อุดรธานี) และโครงการ PTTEP 1 (นครปฐม สุพรรณบุรี) มีแผนดำเนินงาน 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 – 2563 โดยมีงบประมาณรวม 28.875 ล้านบาท   2. การดำเนินงาน                โครงการขยะสู่พลังงานของโครงการสินภูฮ่อม ณ บ้านทับไฮ อำเภอหนองแสง จังหวัดอุดรธานี เป็นกิจกรรมที่เห็นตัวอย่างการจัดการปัญหากลิ่นจากการเลี้ยงสุกรของฟาร์มขนาดเล็ก ที่บ้านท่าศรี มีกิจกรรมย่อยต่าง ๆ ประกอบด้วย (1) สนับสนุนและส่งเสริมให้ประชาชนคัดแยกขยะในครัวเรือน (2) ทำปุ๋ยหมักจากเศษอาหาร (3) นำเอาของเสียจากการฟาร์มเลี้ยงสัตว์มาผลิตเป็นระบบก๊าซชีวภาพสำหรับใช้เป็นก๊าซหุงต้มสำหรับครัวเรือน มีการขุดบ่อชีวภาพและใช้เป็นพลังงานในระดับครัวเรือน จำนวน 130 ครัวเรือน มีศูนย์สาธิตที่โรงเรียนบ้านทับไฮ และวัดบ้านทับไฮ ที่ละ 1 แห่ง เพื่อใช้เป็นศูนย์เรียนรู้และการสาธิตความรู้และทักษะให้กับสมาชิก รวมทั้งการดูงานของผู้สนใจทั่วไป พร้อมกันนี้ ก็ยังได้จัดให้สมาชิกในโครงการที่มีทักษะช่าง จำนวน 12 คน รวมตัวกันทำหน้าที่เป็น “ช่างชุมชน” เพื่อบริการงานแก้ไขข้อติดขัดที่จะทำให้ก๊าซไหลเวียนไม่สะดวก และเป็นผู้ป้อนข้อมูลปัญหาการทำงานภาคสนามย้อนกลับไปสู่การหารืองานร่วมกันเพื่อการปรับปรุงวัสดุอุปกรณ์ เช่น เสนอให้ปรับความหนาของผ้ายางคลุมบ่อ และสร้างสำนึกร่วมแบบจิตสาธารณะของสมาชิกในชุมชน                โครงการที่บ้านทับไฮ รวบรวมเอามูลสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่ของชุมชนสมาชิกจำนวน 69 ครัวเรือน (ในจำนวนสมาชิกร่วมโครงการ 130 ครัวเรือน) จำนวน 10 กระสอบ (กระสอบละ 60 กิโลกรัม) มาใส่บ่อหมักก๊าซของครัวเรือน 7 วัน แล้วเติมมูลสัตว์หรือเศษอาหาร (ขยะอินทรีย์) ของครัวเรือน (ของวัด/ โรงเรียน) วันละครั้ง เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตเป็นก๊าซชีวภาพของบ่อหมักก๊าซ โดยจะมีการต่อท่อสายยางเพื่อนำเอาก๊าซที่ได้ ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มของครัวเรือน                มีแผนงานที่ขยายสมาชิกของครัวเรือนบ้านทับไฮนี้ออกไปให้มากขึ้นอีกโดยมีเป้าหมายขยายให้ครบ 230 ครัวเรือนในปี พ.ศ. 2564 ซึ่งปัจจุบันติดตั้งไปแล้ว 69 ครัวเรือนโดยมีงบประมาณที่ ปตท.สผ. จะสนับสนุนการขุดหลุมสร้างบ่อและระบบก๊าซ ประมาณ 10,000 บาทต่อครัวเรือน   3. ผลลัพธ์                การดำเนินงานตามโครงการขยะสู่พลังงานของโครงการสินภูฮ่อม ได้ทำให้แต่ละครัวเรือนมีก๊าซชีวภาพไว้ใช้งาน ประมาณวันละ 2 – 3 ลูกบาศก์เมตร แทนการซื้อก๊าซ LPG ในการหุงต้ม ได้ไม่น้อยกว่า 1.5 ถัง/ เดือน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 600 บาท/ เดือน/ ครัวเรือน ซึ่งถือได้ว่าเป็นการลดรายจ่ายของครัวเรือนสมาชิกที่ร่วมโครงการ (เปรียบเทียบได้เป็นร้อยละ 2.7 ของรายจ่ายครัวเรือนพร้อม ๆ กับมีส่วนสำคัญต่อการลดงานและงบประมาณในการจัดการขยะชุมชนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นไปอีกทางหนึ่งด้วย) นอกจากนั้นแล้ว กากของเสียจากบ่อหมัก ยังสามารถนำไปใช้ผลิตเป็นปุ๋ยอินทรีย์ สร้างประโยชน์ได้ต่อเนื่องไปอีก  
Share this

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *